วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553



ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่


http://web.ku.ac.th/king72/center/center5.htm
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อ ๑๔ ปีก่อน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ไปเยี่ยมเยือนภาคเหนือของไทย เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน ต่างนิยมชมชื่นว่าเป็นดินแดนที่มีธรรมชาติและวัฒนธรรมงดงาม แต่…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบทภาคเหนือ ทรงทราบว่า มีพื้นที่ภาคเหนือซึ่งส่วนมากเป็นภูเขา ที่เคยมีป่าไม้ต้นน้ำลำธารอุดมสมบูรณ์ ถูกราษฎรโดยเฉพาะชาวเขาบุกรุกทำลายเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ได้ทำลายพื้นดินให้เปลี่ยนสภาพเสื่อมโทรมลงเป็นจำนวนมาก ทรงตระหนักในทันทีว่า จำเป็นต้องเร่งรีบแก้ไขโดยการพัฒนาพื้นดิน พัฒนาอาชีพ และพัฒนาคน เพื่อบรรเทาและหยุดยั้งการทำลายป่า ซึ่งจะนำอันตรายใหญ่หลวงมาสู่ส่วนรวมในอนาคต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕ ณ บริเวณพื้นที่ต้นน้ำ ห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่โครงการประมาณ ๘,๕๐๐ ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ "ป่าขุนแม่กวง" ภูมิประเทศทั่วไปเป็นป่าเขา และต่อมาได้จัดตั้งศูนย์สาขาอีก ๔ แห่ง คือ
๑. โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
๒. โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
๓. โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย
๔. โครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มีเป้าหมายในการศึกษาและทดสอบหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับพื้นที่บริเวณต้นน้ำลำธารของภาคเหนือทั้ง ด้านการพัฒนาป่าไม้ และการพัฒนาอาชีพ เพื่อนำออกสาธิตเป็นแบบอย่างให้หน่วยราชการและราษฎรนำไปปฏิบัติ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นต่อไป
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ดำเนินกิจการสำคัญ ๆ ได้แก่
๑. งานศึกษาพัฒนาแหล่งน้ำจัดสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ บนสันเขา สร้างฝายต้นน้ำเพื่อกระจายน้ำให้พื้นที่กลับชุ่มชื้น
๒. งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ ปลูกสร้างสวนป่าใหม่ ฟื้นฟูบำรุงรักษาป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่ ปลูกพันธุ์ไม้เสริม ช่วยการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้ต้นเล็ก ศึกษาพัฒนาระบบเกษตรป่าไม้ ศึกษาวิจัยต้นน้ำลำธาร และนิเวศน์ป่าไม้ ตลอดจนศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าในพื้นที่ต้นน้ำลำธารเพื่อพัฒนาป่า
๓. งานศึกษาและพัฒนาที่ดิน จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำสำหรับพื้นที่ลาดชันที่ทำประโยชน์ทางเกษตรกรรมไม่ได้
๔. งานศึกษาและทดสอบการปลูกพืชประเภทไม้ผล ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย มะขามหวาน ฯลฯ ตลอดจนพืชอุตสาหกรรม เช่น แมคคาเดเมีย กระทกรกฝรั่ง มะม่วงหิมพานต์ และพืชผัก เช่น กะหล่ำ มะเขือ แตง และเห็ด
๕. งานศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรมแบบประณีต โดยปลูกไม้ยืนต้นเป็นแถว และปลูกไม้ล้มลุกที่เป็นยาและอาหารแทรกเพื่อเกิดรายได้ควบคู่กันไป
๖. งานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์ โคนม และสัตว์ปีก
๗. งานศึกษาและพัฒนาการประมง ศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงปลา วางระเบียบการจับปลาในอ่างน้ำเพื่อมิให้มีการทำลายพันธุ์ปลา
๘. งานอนุรักษ์และพัฒนาอาชีพเลี้ยงกบ
๙. งานปลูกหญ้าแฝก ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันหน้าดินพังทลายเป็นการสนองพระราชดำริ
๑๐. งานพัฒนาหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ โดยพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และส่งเสริมการเกษตรอุตสาหกรรมเพิ่มพูนรายได้ด้วย

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ก็เช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอื่น ๆ ที่มีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานร่วมรับผิดชอบดำเนินการสนองพระราชดำริ เช่น กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง ฯลฯ
เมื่อศูนย์ฯ ได้ศึกษาทดลองด้านต่าง ๆ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้ว ได้นำออกเผยแพร่ ฝึกอบรม ส่งเสริมให้ราษฎร และหน่วยราชการนำไปปฏิบัติ เพื่อให้มีอาชีพที่มั่นคงมีรายได้เลี้ยงคน และครอบครัว พัฒนาท้องถิ่นเป็น การพัฒนาแบบยั่งยืน ที่ได้ผลสมตามพระราชประสงค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ทรงพระปรีชาสามารถล้ำเลิศ ทรงรักและเอื้ออาทรในทุกข์สุขของราษฎรถ้วนหน้า ทรงทุ่มเทอุทิศพระองค์ด้วยพระอัจฉริยภาพ และพระวิริยะอุตสาหะสูงยิ่ง แม้ใช้เวลานานนับสิบปีกว่าจะเห็นผลก็มิได้ทรงย่อท้อ
พระเสโสทุกหยาดหยด คือ น้ำอมฤตที่หลั่งลงพลิกฟื้นผืนแผ่นดินไทยให้กลับเป็นแผ่นดินทอง และชุบชีวิตราษฎรในชนบทให้สามารถดำรงชีวิตด้วยความผาสุกสมตามอัตภาพ
ที่ตั้งโครงการ
ตั้งอยู่บริเวณป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๓๔ กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๑๙ สายเชียงใหม่-เชียงราย มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมดประมาณ ๘,๕๐๐ ไร่ ซึ่งภูมิประเทศทั่วไปเป็นป่าเขา โทร (๐๕๓) ๒๔๘๐๐๔ โทรสาร (๐๕๓) ๒๔๘๔๘๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น